วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ลมในท้องเยอะ


การที่ลมในท้องมากอาจจะทำให้เกิดอาการท้องอืด แน่นท้อง ปวดมวนในท้อง ปวดท้องเป็นพักๆ เรอมาก ผายลมบ่อย เป็นต้น สาเหตุของลมในท้องที่มากนั้นเกิดได้จาก

- เกิดจากอาการทางประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเครียด ใครก็ตามที่ต้องทำงานใช้ความคิดมาก และต้องนั่งทำงานอยู่กับที่ตลอดเวลามักจะเสี่ยงต่ออาการท้องอืดและปวดท้องได้

- เกิดจากแก๊สในลำไส้ใหญ่มากกว่าปกติ ทั้งนี้เพราะว่าในร่างกายมีแบคทีเรียตัวร้ายมากเกินไป มันจะผลิตแก๊สขึ้นมามากจนลำไส้ใหญ่โป่ง และมีลมรบกวนอยู่ในท้อง ในขณะที่ปวดท้องเพราะลมมากนั้น เราสามารถช่วยตัวเองได้ด้วยการเอากระเป๋าน้ำร้อน ประคบหน้าท้องหรือจะกินยาถ่านกันมันต์ แอคติเวดเต็ดชาร์โค ช่วยดูดแก๊สในท้องให้หายอึดอัดก่อนก็ได้

วิธีการดูแลตัวเองในระยะยาว สามารถทำได้ดังนี้

1. ถ้ารู้ตัวเองว่าอาการเครียดทำให้เกิดลมในท้องมาก ให้จัดเวลาออกกำลังกายทุกเย็นหลังเลิกงาน เพื่อระบายความเครียด เนื่องจากการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬามีส่วนช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหว และขับลมออกไปนอกร่างกายเราได้ด้วย

2. ฝึกชี่กงระบายลม ขณะที่ฝึกชี่กงหากเราอยากผายลมไม่แนะนำให้กั้นไว้ ควรจะปล่อยให้มันผายออกมาได้เลย เพราะมันจะช่วยทำให้อาการอึดอัดและแน่นท้องหายไปเอง

3. นวดหน้าท้อง โดยให้ผู้อื่นช่วยนวดให้ สามารถทำได้โดยการใช้มือสองมือกดลงไปตรงหน้าท้อง เริ่มจากดท้องด้านขวาส่วนล่าง ให้กดเป็นทิศทางตามเข็มนาฬิกาขึ้นไปยังท้องส่วนบน นวดขวางหน้าท้องแล้วเลี้ยวกลับลงมาทางด้านซ้าย วิธีการนี้เป็นการนวดลำไส้ใหญ่ เพื่อกระตุ้นให้มันขับลมออกมา

4. ดื่มชาสมุนไพรหรือกินสมุนไพรที่มีฤทธิ์ขับลม สำหรับชาจะชงกับสมุนไพรแห้งหรือเอาสมุนไพรมาต้มกับน้ำก็ได้ ชาที่แนะนำได้แก่ ขิง ตะไคร้ กะเพรา (กะเพราแดงจะขับลมได้ดีกว่ากระเพราขาว) ชะพลู ดีปลี กานพลู พริกไทย กระวาน เร่ว ไพล ข่า และจันทน์เทศ เป็นต้น โดยเราสามารถนำมาทำเป็นกับข้าวหรือปรุงเป็นอาหารกินแก้ท้องอืดได้ดี

5. ใช้โอลิโกพรุกโตส วันละ 1-3 กรัม เพื่อเข้าไปเลี้ยงบิฟิโดแบคทีเรียให้เพิ่มปริมาณ และลดจำนวนแบคทีเรียตัวร้ายที่สร้างแก๊สในลำไส้ แต่ควรเริ่มด้วยปริมาณน้อย ๆ ก่อน เช่นวันละ 1/2 - 1 กรัม เพราะคนที่มีลมในท้องมาก อาจจะไม่ชินกับมวลของอุจจาระที่เพิ่มมากขึ้น และอาจจะทำให้ปวดมวนท้องมากกว่าเดิม ถ้ามีอาการดังกล่าวให้ลดขนาดของโอลิโกกรุกโตส ที่ใช้ลง เมื่อชินแล้วก็ค่อยกินมากขึ้น